About
Contact Us
© 2020 Contextual Co.,Ltd. All rights reserved
Back To Home
Back To Home

ความจริงจังเรื่องการ ข้ามถนน ของคน เกาหลี กับการปฏิรูป ความปลอดภัย ครั้งใหญ่ของประเทศ

หากเราเคยไปเดิน ข้ามถนน ที่ประเทศอื่น ๆ มาบ้าง โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เราน่าจะสังเกตเห็นวัฒนธรรมการ ข้ามถนน ที่ต่างจากประเทศเรา นั่นคือ รถจะต้องหยุดให้คนข้ามก่อน ซึ่งคือการที่เขาให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามากกว่าคนขับรถ
ในปัจจุบัน เกาหลี เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากเรื่องการปฎิรูป ความปลอดภัย ในการใช้ถนน ทั้งที่เคยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะเดินข้ามถนนสูงมากมาก่อน จากความร่วมมือกัน ประเทศ เกาหลี สามารถลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงถึง 94.2 % เหลือ เพียง 34 คน ภายใน 18 ปี
Better จะพาไป " ดูงานต่างประเทศ " ที่ เกาหลี กันว่ามีการจัดการอย่างไร ให้คนข้ามถนนปลอดภัย และทำอย่างไรถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จนวันนี้แทบไม่มีคนเสียชีวิตจากการข้ามถนนและโดนรถชนเลย

จากความเจ็บปวดในอดีต สู่อนาคตที่ปลอดภัยกว่าของลูกหลาน

ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1980 - 2000 เป็นช่วงที่สังคมเมือง เกาหลี ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การที่มีจำนวนประชากรพุ่งสูงขึ้นจาก 2 ล้าน เป็น 10 ล้านคน ทำให้มีจำนวนการใช้รถยนต์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วไปด้วย ในปี 1992 เพียงปีเดียวนั้น มีเด็กจำนวนถึง 1,566 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร โดยอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นระหว่างที่เด็ก ๆ กำลังข้ามถนน หรือตอนที่กำลังจะขึ้น - ลงรถโดยสาร
ยิ่งเด็กประถมเป็นช่วงวัยที่กำลังปรับตัว จะยังกะระยะห่างเเละความเร็วของรถที่วิ่งมาไม่ค่อยถูก อีกทั้งเด็กยังมีพฤติกรรมที่ไม่เเน่นอน ทำให้คนขับคาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เช่น อยู่ดี ๆ เด็กอาจจะกระโดดหรือวิ่งตัดหน้ารถที่หักหลบเเล้ว หรือวิ่งอยู่เเล้วหยุดวิ่งกระทันหัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต การปฏิรูปนี้จึงเน้นเริ่มที่ความปลอดภัยของกลุ่มเด็กเป็นสำคัญ

ความสำเร็จในการยกระดับ ความปลอดภัย

การยกระดับ ความปลอดภัย ในการข้ามถนนเเก่เด็ก ๆ นั้น จำเป็นต้องปฎิรูปในหลายระดับ โดยมีทางรัฐบาลเกาหลีพัฒนาทั้ง 3 องค์ประกอบ หรือ 3E ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย ( Enforcement ) การออกเเบบ เพื่อสร้างสภาพเเวดล้อมที่ปลอดภัย ( Engineering )  เเละ การศึกษา ( Education ) นอกจากนี้ยังมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเเก้ปัญหาโดยให้ประชาชนออกเเบบนโยบายร่วมกับภาครัฐเพื่อหาวิธีที่ดีกว่าขึ้นไปเรื่อย ๆ

1. การบังคับใช้กฎหมายในเขตโรงเรียน

แนวคิดหลักที่เห็นได้ชัดของการออกกฎหมายนี้ ไม่ได้มีเพื่อต้องการปรับหรือลงโทษใคร แต่เป็นไปเพื่อการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นหลัก
การกำหนดเขตโรงเรียน ( school zone ) เริ่มขึ้นครั้งเเรกในปี 1995 โดยประกาศให้พื้นที่รอบโรงเรียนในรัศมี 300 เมตร เป็นเขตเคร่งครัดพิเศษ โดยทุกคนโดยเฉพาะผู้ขับขี่รถทุกประเภท ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย เเละมีการเพิ่มอุปกรณ์ป้องกัน  อุปกรณ์ดูเเลความปลอดภัยตามแนวทางที่ทางการกำหนด
school zone (Photo : http://www.ntoday.co.kr/news/articleView.html?idxno=67991)
ในปี 1997 รัฐบาลเกาหลียังได้เริ่มใช้ school bus protection system เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเวลาเด็กขึ้น - ลง รถโดยสาร  ตั้งเเต่การที่รถทุกคันต้องหยุดเมื่อเห็นรถบัสของโรงเรียนจอด เเม้กระทั่งรถที่อยู่เลนตรงข้ามก็ต้องจอดเเละรอดูจนกว่ารถบัสจะเคลื่อนที่
ในปี 2014 ได้ประกาศให้รถบัสทุกคันต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยติดตั้งบนรถ  ได้เเก่ ป้ายหยุดข้างประตูคนขับ ที่จะกางออกมาโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่ประตูรถเปิดรับเด็กขึ้น - ลงจากรถ  มีการใช้กระจกมองข้างขนาดใหญ่ที่สามารถลดมุมอับสายตาของคนขับ เเละกล้องมองท้ายรถพร้อมเซ็นเซอร์
ในปี 2019 รัฐบาลเกาหลีมีการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม ให้ผู้ให้บริการรถสาธารณะสำหรับเด็กอนุบาล ไปจนถึงศูนย์ดูเเลเด็กเเบบ day care ต้องติดตั้งระบบที่ใช้ตรวจเช็คไม่ให้มีเด็กหลงเหลืออยู่บนรถ ป้องกันการที่เด็กอาจจะหลับอยู่บนรถหลังจากถึงปลายทาง ระบบนี้ถูกออกเเบบให้คนขับต้องตรวจเช็คเด็กที่หลงเหลืออยู่ โดยที่ในรถจะมีสัญญาณเตือนซึ่งจะทำงานทุกครั้งที่คนขับดับเครื่องหรือดึงกุญเเจรถออก คนขับรถจะต้องเดินไปกดปิดปุ่มสัญญาณนี้ที่ท้ายรถ การที่คนขับรถต้องเดินไปท้ายรถเพื่อปิดปุ่มสัญญาณนี้ ทำให้เป็นการตรวจเช็คว่ามีเด็กหลับอยู่ในรถหรือไม่อีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้รถโดยสารในบางพื้นที่ ได้เริ่มใช้ระบบ GPS ที่ให้ผู้ปกครองยังสามารถติดตามตำเเหน่งของรถที่ลูกนั่งได้อย่างง่ายดายจากมือถือของตนเอง
school bus protection system (Photo : https://www.hankookilbo.com/News/Read/201807311726351274 , https://m.webdaily.co.kr/view.php?ud=2018062214445197123b46bb1104_7) 
รัฐบาลเกาหลีมีการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่จริงจังเเละเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนฉบับล่าสุดที่ใช้กันเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 นี้ มีชื่อว่า " Min - sik Law " ( ที่มาของชื่อกฎหมายนี้ มาจากชื่อของเด็กที่ถูกรถชนตายเมื่อปี 2019 ซึ่งพ่อเเม่ของเด็กได้ส่งเรื่องขอปรับปรุงกฎหมายโดยมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนจำนวนมาก ) ส่งผลให้คนที่ฝ่าฝืนในเขตโรงเรียนจะถูกลงโทษทางกฎหมายรุนเเรงกว่าการกระทำผิดในเขตอื่น ๆ หลายเท่า เช่น การจอดรถในเขตโรงเรียนในที่ห้ามจอดจะถูกปรับถึง 120,000 วอน ( ประมาณ 3,300 บาท ) เป็นค่าปรับที่สูงกว่าปกติ 3 เท่า  ผู้ที่ขับรถเร็วกว่า 30 กม. ต่อชั่วโมง เเละทำให้เด็กบาดเจ็บจะถูกปรับตั้งเเต่ 5 - 30 ล้านวอน ( ราว 130,000 - 830,000 บาท) เเละต้องจำคุกตั้งเเต่ 1 - 15 ปี  ส่วนในกรณีที่ชนเด็กจนถึงเเก่ชีวิตจะถูกจำคุกอย่างน้อยสามปีไปจนถึงตลอดชีวิต
กฎหมายจราจรของเกาหลีโหดขนาดที่ทำให้บรรดาผู้ขับรถต้องซื้อประกันที่ครอบคลุมความเสียหายในกรณีที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเด็ก
FUN FACT : แอปพลิเคชันนำทางยอดฮิตของชาว เกาหลี อย่าง " Kakao Navi " มีฟังก์ชั่นเสริมในการส่งเสียงเเละข้อความเตือนคนขับเมื่อเข้าสู่เขตโรงเรียน และจากเสียงเรียกร้องจำนวนมากจากผู้ใช้ ทำให้ผู้พัฒนากำลังพิจารณาเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ ในการหาเส้นทางไปยังจุดหมายโดยเลี่ยงเขตโรงเรียนทั้งหมด
Kakao Navi (Photo : https://www.kakaocorp.com/service/KakaoNavi?lang=en)

2. การออกเเบบเเละสร้างสภาพเเวดล้อมที่ปลอดภัย

สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ ไม่ใช่ว่าทางการจ้องจะปรับอย่างเดียว แต่ได้มีการออกแบบทางกายภาพเพื่อเป็นการเตือนว่าเข้าเขตโรงเรียนแล้ว โดยเมื่อเข้าเขตจะเจอกับถนนที่ทาด้วยสีเเดง พร้อมคำเตือนที่พื้น รวมถึงเสาไฟจราจรในเขตโรงเรียนจะเป็นสีเหลือง เพื่อให้คนขับสังเกตได้ง่ายและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ป้ายจราจรรอบ ๆ บริเวณนี้จะติดตั้งกล้อง CCTV ที่คอยตรวจจับอุบัติเหตุ ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร และตรวจจับความเร็ว เพื่อเตือนทุกรถทุกคันว่า ต้องลดความเร็วให้ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(Photo : Korea Times photo by Ko Young-kwon , https://news.kbs.co.kr/news/view.do?ncd=4326264 , http://www.shinailbo.co.kr/news/articleView.html?idxno=1144432)
สำหรับเด็ก ๆ และผู้เดินถนน ในเขตโรงเรียนพื้นที่ฟุตบาทจะถูกขยายให้กว้างขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเดินได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องเลี่ยงลงมาเดินที่ถนน โดยทางรัฐก็ไม่ได้ลดเลนรถวิ่ง เพียงแต่ไม่อนุญาตให้จอดรถริมถนนในบริเวณรอบ ๆ โรงเรียน และนำพื้นที่เลนที่เคยให้จอดรถได้นั้น เปลี่ยนเป็นฟุตบาทสำหรับให้เด็ก ๆ เดิน โดยที่มีการสร้างลานและอาคารจอดรถสาธารณะที่ถูกกฎหมายเเทน
มีการติดตั้งรั้วสูงหน้าตาน่ารัก เพื่อไม่ให้เด็กลงมาเดินที่พื้นถนน และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเด็กที่กำลังเดินอยู่บนฟุตบาทอีกทางหนึ่งด้วย 
รั้วกั้นริมถนนและผ้าคลุมกระเป๋า (Photo : http://www.civicnews.com/news/articleView.html?idxno=2668 , http://koreabizwire.com/bag-covers-for-elementary-school-students-to-promote-safety/139598)
โครงการ Yellow Carpet
จากการเห็นพื้นที่จริงทำให้พบว่า อีกหนึ่งสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุข้ามถนน คือ การที่จุดรอข้ามถนนบางจุดเป็นจุดอับสายตา ทำให้คนขับรถมองไม่เห็นเด็กที่กำลังข้ามถนน
จึงทำให้เกิดโครงการ Yellow Carpet ขึ้น ในปี 2015 เพียงแค่ทำการทาสีบริเวณพื้นที่ยืนรอให้เป็นสีเหลืองสะท้อนเเสง ดูคล้ายกับดวงไฟสปอตไลท์ที่ฉายลงมาบนถนน เพื่อให้คนขับสามารถสังเกตเห็นเด็กที่ยืนรอข้ามถนนอยู่ได้ง่ายมากขึ้น ถือเป็นวิธีง่าย ๆ ทีไม่ต้องลงทุนมาก แต่ได้ผลดีทีเดียว
Yellow Carpet เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ InCRC ( International Child Rights Center ) และ ChildFund Korea โครงการเพื่อสนับสนุนสิทธิเด็ก ปัจจุบันมี Yellow Carpet อยู่เกือบ 700 แห่งทั่วประเทศ เเละกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
Yellow Carpet (Photo : http://mediahub.seoul.go.kr/archives/1293438)

3. จะสร้างเมือง ต้องสร้างคน เริ่มที่การศึกษา

ประเทศเกาหลี มีหลักสูตรให้ความรู้เรื่องการใช้ถนนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ทั้งในโรงเรียนเเละเเหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน
ภายนอกโรงเรียนจะมีศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ถนนโดยเฉพาะ ที่ทั้งจำลองสภาพเเวดล้อม เเละสถานการณ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เพื่อให้เด็กได้สัมผัสผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ไปจนถึงใช้สื่อต่าง ๆ ที่ช่วยดึงดูดเเละทำให้เด็กเรียนได้อย่างสนุกมากขึ้น เช่น Kids’ Auto Park ในโซลที่เป็นโครงการให้ความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ที่ให้บริการโดย Hyundai บริษัทรถยนต์สัญชาติเกาหลี และศูนย์เรียนรู้ Gupo Children’s Traffic Safety Park  ที่บูซาน ในกรณีที่พื้นที่ไหนขาดเเหล่งเรียนรู้ในชุมชน ก็สามารถติดต่อกับทางภาครัฐเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงิน เเละให้ช่วยสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้
Gupo Children’s Traffic Safety Park (Photo : https://visitbusan.net/index.do?menuCd=DOM_000000301001001000&uc_seq=313&lang_cd=en)

4. สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันความปลอดภัยเเก่เด็กมากที่สุด ก็คือ กลุ่ม Korea Green Mothers Society ( KGMS ) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่เเสวงผลกำไร มีสมาชิกกว่า 530,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งสมาชิกทุกคนจะเป็นอาสาสมัครที่คอยดูเเลความปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ ตลอดเส้นทาง ตั้งเเต่มาเรียนจนถึงเดินทางกลับบ้าน เช่น ช่วยโบกรถ พาเด็กเดินข้ามถนน  คอยสอดส่อง สังเกตความผิดปกติต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเเคมเปญที่ช่วยกระตุ้นให้คนสนใจประเด็นความปลอดภัยในการใช้ถนนของเด็ก ไปจนถึงเป็นตัวกลางที่คอยรวบรวมความเห็นจากประชาชนเเพื่อนำเสนอนโยบายใหม่ ๆ ต่อภาครัฐ
Korea Green Mothers Society (Photo : http://www.newstown.co.kr/news/articleView.html?idxno=419634)

เริ่มจากความปลอดภัยกลุ่มเด็ก และขยายไปผู้สูงอายุ

เพราะการออกแบบหนึ่งครั้งไม่ได้ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้ ทางรัฐบาลเกาหลียังมีโครงการอื่น ๆ ที่คำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้กลุ่มอื่นที่มีความต้องการแตกต่างออกไป ถ้าลองไปดูตามเสาไฟจราจร จะเห็นว่ามีเก้าอี้ตัวจิ๋วสีเหลืองสะดุดตา เรียกว่า " longlife chairs " สำหรับให้ผู้สูงอายุนั่งรอข้ามทางม้าลาย ไม่ต้องยืนรอจนเมื่อยเเละเสี่ยงข้ามถนนตอนยังมีรถวิ่งผ่านไปมาอยู่
ทางรัฐบาลเมืองโซลได้เริ่มติดตั้งเก้าอี้เเบบนี้ตามจุดต่าง ๆ ที่มีอุบัติเหตุต่อผู้สูงอายุบ่อย
longlife chairs (Photo : https://www.hankookilbo.com/News/Read/201904021528012560 , http://www.cmbnews.kr/news/articleView.html?idxno=10894)

Solution แบบอัจฉริยะ สำหรับกลุ่มคนติดมือถือ

ในการข้ามถนน ไม่ใช่แค่ผู้ขับขี่รถต้องระวัง แต่ผู้ข้ามก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน อีกปัญหาหนึ่งที่พบในการข้ามถนนในยุคนี้ คือ ชาว " smombies " ( smartphone zommbies )  หรือผู้ที่มักจะก้มหน้าเล่นโทรศัพท์เวลาเดินบนถนน จนนำไปสู่อุบัติเหตุถูกรถชนในหลาย ต่อหลายครั้ง ทางเมืองโซลจึงได้ทำการพัฒนาระบบข้ามถนนอัจฉริยะที่ช่วยลดอุบัติเหตุด้วยการเตือนผู้ใช้ถนน 3 ระดับ คือ 
มีเสียงเตือนผ่านการประกาศ เเละภาพที่ฉายบนฟุตบาท เมื่อมีรถกำลังขับมาในความเร็วที่สูงกว่า 10 กม.ต่อชั่วโมง และมี projection mapping ไปที่พื้นถนนเป็นคำเตือนว่า อันตราย ! อย่าเพิ่งข้ามถนน โปรดถอยหลังออกไป ( ในต้นเเบบที่ทดลองอยู่ สามารถสั่นเมื่อคนเหยียบตอนยังไม่ถึงเวลาข้ามได้ด้วย ) เตือนผ่านมือถือด้วยการสั่น พร้อมขึ้นความเตือนให้ถอยหลังขึ้นไปรอไฟเขียวเตือนผ่านไฟกระพริบตรงทางม้าลาย ถ้ามีรถที่กำลังขับมาในระยะ 30 เมตร เพื่อทำให้คนขับสังเกตเห็นเเละรีบหยุดรถให้เร็วที่สุด
crosswalk for smartphone zommbies (Photo : http://m.ohmynews.com/NWS_Web/Mobile/raw_pg.aspx?CNTN_CD=A0002541307)
เห็นได้ว่าการปฏิรูปความปลอดภัยของผู้เดินถนนในประเทศเกาหลีนี้ ใช้เวลาเกือบ 30 ปี ด้วยความจริงจังของรัฐ และความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงเกิดขึ้นได้ ช่วงแรกต้องใช้กฎหมายบังคับ จนคนเริ่มเคยชิน ร่วมกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็ก ๆ ที่กำลังจะโตขึ้นมา แล้วบ้านเราล่ะ จะเริ่มให้ความสำคัญกับคนข้ามถนนอย่างไรดี
# ดูงานต่างประเทศ!
# experience design
# innovation
# korea
# crosswalk
# safety
# road
SHARE NOW :
Posted On 25 Jan 2021